คุณแม่นักหมากล้อม : คือพลัง คือความหวัง คือกำลังใจ

0

คุณแม่นักหมากล้อม : คือพลัง คือความหวัง คือกำลังใจ

[คุณแม่นักหมากล้อม : คือพลัง คือความหวัง คือกำลังใจ]

เดือนแห่งวันแม่อย่างนี้ ทางเพจ TGA ของเราก็ไม่พลาดที่จะนำเสนอเรื่องราวของคุณแม่มาฝากกันเช่นเคย ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่ของนักหมากล้อมรุ่นเล็กแต่ฝีมือไม่เล็กถึง 3 คนด้วยกัน ได้แก่ แม่พร (พร ตัณพิสุทธิ คุณแม่ของน้องริว (วรท ตัณพิสุทธิ์) 3 ดั้ง และน้องยูริ (วีรินทร์ ตัณพิสุทธิ์) 2 ดั้ง), แม่เล็ก (ทิพยา ภรณวลัย คุณแม่ของน้องแมท (พุทธิโชติ ภรณวลัย) 1 ดั้ง และน้องเมิร์ธ (วรัญญ์ภัสร์ ภรณวลัย) 3 ดั้ง ) และแม่มน (สุชาดา ฟูกูฮาระ คุณแม่ของน้องมี่จัง (ไอรัก ฟูกูฮาระ) 2 ดั้ง)

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะชวนทุกคนล้อมวงฟังเรื่องราวความประทับใจ รวมไปถึงแนวคิดในการดูแล ส่งเสริมสนับสนุนลูกๆ ตั้งแต่ก้าวแรกจนมาถึงวันที่ยืนหยัดอยู่บนเส้นทางของวงการหมากล้อมกัน

Q : อยากทราบว่าคุณแม่รู้จักหมากล้อมได้ยังไง ทำไมถึงตัดสินใจให้น้องมาเรียนหมากล้อมครับ

แม่พร : อันนี้คุณพ่อเป็นคนหาข้อมูล พอดีว่าพี่ริวเขาเป็นคนที่สมาธิไม่ค่อยนิ่ง ก็เลยอยากจะหากิจกรรมให้เขาลองทำเพื่อที่จะให้นิ่งขึ้น แต่พอเจอหมากล้อมก็ได้ลองหาข้อมูล เห็นว่ามีประโยชน์เลยพาลูกๆ ไปเริ่มเรียน
แม่เล็ก : สำหรับบ้านแมทกับเมิร์ธนะคะ คือเราได้รู้จักหมากล้อมจากคลาสนึงของ CP ALL เป็นการอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พี่แมทตั้งใจจะไปเรียน กลับมาแล้วก็ขอซื้อกระดาน แล้วก็ไปเรียนเพิ่มอีกประมาณ 2 คลาส หลังจากนั้นก็กลับมาเล่นกับน้องเมิร์ธ ก็เล่นกันเองจนถึงจุดนึง คุณพ่อคุณแม่ก็เห็นว่าเขาสองคนน่าจะชอบ เห็นเล่นกันใหญ่เลย ก็เลยคิดว่าอยากจะพัฒนาฝีมือเขาไปในอนาคต เลยลองมองหาโรงเรียน ก็เป็นจุดเริ่มต้นของบ้านเราค่ะ
แม่มน : ของบ้านนี้เป็นความบังเอิญที่สุดเลยค่ะ เพราะว่าก่อนหน้านั้นหมากล้อมไม่เคยอยู่ในหัวเลย ส่วนตัวเคยเห็นหมากล้อมจากในภาพยนตร์จีน เห็นพวกขุนนาง ฮ่องเต้เล่น แต่ไม่เคยคิดว่าหมากชนิดนี้จะมีในประเทศไทย คือเรารู้ว่ามันมีขาวๆ ดำๆ นะ แล้วก็เป็นพวกชนชั้นสูงเล่นกัน จนกระทั่งลูกไปเจอโปสเตอร์ในห้าง แล้วเขาถามว่าอันนี้คืออะไร อยากลองเล่นเพราะเขาคิดว่ามันคือเกม เราก็โอเค พาเขาไปลองแล้วก็บอกว่าเขาชอบ ตอนนั้นเราก็มีความรู้สึกว่าเรายังไม่ได้เห็นถึงความสำคัญหรือประโยชน์อะไรเลย ก็คิดว่าเขาคงไม่ได้ชอบจริงๆ แค่ลองเล่นๆ หรือเปล่า จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่บอกว่าเขาไปแคะกระปุกมาเพราะว่าเขาอยากเรียนจริงๆ แม่สมัครให้ได้มั้ย เราก็ไปสมัครให้ลูก โดยที่ว่าลูกชอบและเขาดิ้นรนที่อยากจะสมัคร จนเขาเริ่มเรียน เราถึงเพิ่งจะมาหาข้อมูลที่หลังว่ามันมีประโยชน์ยังไง พอเรารู้เรื่องนี้ก็เลยสนับสนุนต่อค่ะ

.

Q : แล้วพอเห็นลูกๆ เริ่มจริงจังกับหมากล้อมมากขึ้น รู้สึกอย่างไรบ้างครับ

แม่เล็ก : ตอนแรกก็คิดว่าหมากล้อมเป็นแค่เกมให้เด็กสองคนเล่นกัน พอเริ่มได้รู้จักคุณครูที่โรงเรียนก็บอกว่า มันมีการวัดระดับนะ มีการพัฒนา อย่างแมทกับเมิร์ธเนี่ยเริ่มจาก 14 คิว คุณครูก็บอกให้สอบวัดระดับเพื่อให้ขึ้นไปถึง 1 ดั้ง เราก็รู้สึกว่ามันมีเส้นทาง มีความท้าทาย มันไม่ใช่เกมทั่วๆ ไป มันทำให้เขามีเป้าหมาย อยากจะพัฒนาฝีมือ อีกอย่างที่เพิ่งมารู้ก็คือมันมีการแข่งขันเยอะแยะมากมาย ซึ่งเขาก็คงอยากมาเล่นและอยากชนะ หรือถ้าแพ้ก็ได้เรียนรู้ ได้อะไรกลับไป ทำให้เขามีเป้าหมายและพัฒนาไปเรื่อยๆ ค่ะ
แม่พร : ในกรณีของพี่ริว เราหวังแค่ว่าเรื่องสมาธิใช่มั้ยคะ ตอนแรกก็รู้สึกดีที่เขานั่งเฉยๆ อยู่หน้ากระดานหมากล้อมได้ครึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นอย่างอื่นนี่ไม่ได้แล้ว แต่พอรู้จักไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเขาได้มากกว่านั้น จนครูก็เริ่มบอกว่าไปลองแข่งมั้ย ตอนแรกไม่คิดเลยว่าต้องแข่งด้วย เพราะคิดว่าเราต้องการปรับให้เขามีสมาธิเฉยๆ ทำไมต้องแข่งล่ะ แต่พอได้ไปแข่งแล้วก็รู้เลยว่าได้หลายอย่างมาก คือได้เรียนรู้ว่าการแพ้เป็นยังไง ตอนไปแข่งเฟรนด์ชิปก็ได้รู้ว่าเขาชนะ แต่เพื่อนแพ้ ก็ต้องยอมรับเรื่องความเป็นทีม ให้อภัยเป็น แล้วก็ได้มิตรภาพ ได้รู้จักคู่ต่อสู้จนตอนหลังเนี่ยโตมาด้วยกัน สนิทกันไปเลย
ส่วนของยูริเนี่ย เขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องสมาธิ จุดอ่อนก็คือเขาเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ด้วยความที่เขาเป็นน้องก็จะทำอะไรตามพี่ แต่พอเป็นหมากล้อม มันคือเขาคนเดียวอยู่กับเกมนั้น ทำให้รู้สึกว่าลูกเรามีความเชื่อมั่น ดูเขาโตขึ้น มั่นใจขึ้น ก็คิดว่าหมากล้อมช่วยได้เยอะค่ะ
แม่มน : อย่างที่คุณแม่ทั้งสองท่านได้พูดไป เราก็ไม่เคยคิดจะแข่ง แต่ก็เริ่มรู้ว่ามีเส้นทาง เช่น พอเล่นได้ถึงระดับนี้จะต้องลงแข่ง ตัวมี่จังเองเป็นเด็กที่มุ่งมั่นจะทำอะไรแล้วเขาจะต้องทำให้ได้ ในส่วนของตัวคุณแม่เองถ้าหากเห็นว่าลูกชอบอะไรก็จะสนับสนุนเหมือนกัน พอเขามาเล่นก็ต้องไปตามเส้นทาง ต้องสอบ ต้องแข่ง เพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งเราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวลูก เมื่อก่อนเขาจะเป็นคนที่แพ้อะไรไม่ได้เลย ขนาดเล่นเป่ายิ้งฉุบกับคุณพ่อ ถ้าหากเขาเป็นฝ่ายแพ้ก็จะเริ่มไม่พอใจ แต่พอได้มาเล่นหมากล้อมเหมือนเป็นส่วนช่วยในการลดอีโก้ของเขา จนเขาได้รู้จักคำว่าแพ้ ได้รู้จักทีมเวิร์คเวลาแพ้ในการแข่งประเภททีม แต่เรื่อง sensitive ส่วนตัวเราไม่สามารถสอนเขาได้ เพราะเขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูง อะไรที่เขาตั้งใจทำแล้วมันไม่ได้เขาก็จะเสียใจ แต่มันเป็นน้ำตาแห่งความเสียใจแต่ว่าเขาไม่หยุด เขาเสียใจ เขาร้องไห้ แต่เขาต้องไปต่อให้ได้ มันก็ทำให้เราเห็นว่าเด็กคนนึงสามารถเอาชนะใจตัวเอง ถึงจะเสียใจ จะมีอุปสรรค แต่เขาก็พยายามจะฝ่าฟันไปให้ได้
แม่เล็ก : เรารู้สึกว่าเขาแกร่งขึ้น
แม่มน : ใช่ๆ ลองคิดดูสิ เด็กผู้หญิงตัวเล็กต้องมาอยู่ท่ามกลางเด็กผู้ชาย แล้วเขาอยู่ตรงนี้ได้นี่คือนับถือใจเขามาก

.

Q : ก็ไม่ใช่แค่เด็กผู้ชาย ยังมีผู้ใหญ่อีกด้วยเนาะที่เขาต้องปะทะด้วย

แม่มน : ใช่ๆ ตอนนี้มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เกมแล้ว มันเป็นอะไรที่สามารถฝึกจิตใจของเด็กได้

.

Q : เพราะอะไรคุณแม่ถึงอยากจะสนับสนุนน้องๆ ต่อในเส้นทางนี้ครับ

แม่มน : อันนี้ขอตอบก่อนแล้วกัน ในเมื่อลูกเราไม่หยุด ยังอยากจะไปต่อ แล้วเราในฐานะที่เป็นผู้ปกครองที่ควรจะสนับสนุนเขาอยู่แล้ว ถ้าเขายังไม่หยุด เราจะหยุดได้ยังไง ก็ต้องสนับสนุนเขาต่อไป ในเมื่อเขายังอยากจะไปตรงนี้ต่อ แล้วที่ผ่านมาเราก็เห็นประโยชน์ว่ามันเป็นยังไง สามารถพัฒนาลูกเราได้มากแค่ไหน ก็เลยอยากจะสนับสนุนให้เขาไปให้สุดในที่ที่เขาจะอยู่ค่ะ สมมติว่าเขารักหมากล้อมมาก เขาอยากจะไปสุดที่โปร เราก็พร้อมสนับสนุนเขาให้ไปถึงโปร แต่ถ้าเขาอยากจะสุดที่มือสมัครเล่นแล้วไปทำอาชีพที่เขารัก เราก็พร้อมจะสนับสนุนทางที่เขาเลือก
แม่พร : ก็เช่นเดียวกันค่ะ แล้วแต่ลูก คือเราสนับสนุนเต็มที่ถ้าลูกอยากจะไปต่อ ก็แล้วแต่เขา เพราะว่าตอนนี้ลูกเริ่มจะวัยรุ่นแล้ว ก็จะเริ่มมีอย่างอื่นเข้ามาในชีวิตของเขาเยอะ ก็สนับสนุนเท่าที่เขาต้องการ แต่เราก็ไม่ได้ไปกดดันเขามาก ก็ให้เขาเลือกเลยว่าจะเน้นเรียน เน้นกิจกรรม ดนตรีหรืออะไรก็ให้อิสระเขาเต็มที่
แม่เล็ก : เหมือนกันค่ะ เราก็ตามใจลูกอย่างเดียว บางทีเขาแพ้เยอะๆ ก็มีท้อ มีผิดหวัง ก็ถามเขาว่าอยากจะเล่นต่อมั้ย จะไปต่อมั้ย คำตอบก็คือไปต่อ อย่างพี่แมทตอนนี้จะเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็อยู่ม.3 ก็ดูเขาจะชอบเล่นอะไรที่เป็นกายภาพมากขึ้นก็คือไปเล่นบาส เลยอาจจะเล่นหมากล้อมน้อยลง ส่วนน้องเมิร์ธยังอยู่ประถม ยังสนุกกับหมากล้อมอยู่ ก็เลยเล่นไปเรื่อยๆ

.

Q : เมื่อกี๊เห็นคุณแม่พูดมาเรื่องความท้อของลูก แล้วแม่ๆ อย่างเราล่ะ มีท้อบ้างมั้ยครับ แล้วถ้าหากลูกเราท้อ จะมีวิธีผ่านจุดนั้นยังไงครับ

แม่มน : มันไม่ได้ท้อแต่มันมีความรู้สึกเหนื่อย บางทีเห็นลูกท้อ เห็นเขาเศร้า เสียใจ ร้องไห้บางทีเราก็เหนื่อย รู้สึกสงสาร แต่ด้วยความที่เป็นแม่ก็ต้องอยู่เคียงข้างลูก ที่มันเหนื่อยก็คือเราต้องเหนื่อยปลอบ ต้องหาเหตุผล ต้องคุยกับเขา ยังไม่รวมเวลาที่ไปแข่งต่างจังหวัดก็ต้องแห่แหนตามไปส่งกัน คือพ่อแม่ไม่ได้ท้ออยู่แล้วแหละ แต่บางทีมันเหนื่อย แต่มันเป็นความเหนื่อยที่เต็มใจนะ ที่เราได้เห็นเขารักและอยากทำตรงนี้
แม่พร : ใช่ เป้าหมายเราคืออยากให้เขามีความสุขมากกว่า ที่เราได้เห็นเขาประสบความสำเร็จในเป้าของเขา
แม่เล็ก : ของคุณแม่เนี่ย นอกจากเมิร์ธยังเด็กมากๆ เขาก็มาเจอกับพี่ๆ ที่เก่งระดับดั้งตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ในเด็กตัวน้อยๆ คนหนึ่งต้องแบกรับความกดดัน บางครั้งก็สงสารเขามากเลย เราเลยพยายามเปลี่ยนมุมมองเขาว่า ที่มาเล่นเนี่ยมีแพ้มีชนะ อย่าไปคิดถึงผลมากนัก ตอนที่เริ่มต้นเล่นหมากล้อมทั้งสองฝ่ายจะบอกว่า “ขอคำแนะนำด้วยครับ / ค่ะ” นั่นหมายถึงว่าเรายังไม่รู้ว่าใครจะชนะหรือแพ้ ฝายชนะก็ได้รับคำแนะนำจากฝ่ายแพ้ ฝ่ายแพ้ก็ได้รับคำแนะนำจากฝ่ายชนะ ก็คือในแต่ละกระดานมันเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทุกครั้งที่เล่นก็จะได้อะไรกลับไป แพ้หรือชนะไม่ได้มีผลอะไรมากนัก คืออยากให้เขาอย่าไปโฟกัสเรื่องผลมากนัก ถ้าแพ้ก็ไปจดหมากแล้วก็กลับไปดูเยอะๆ ว่าเราจะเก่งขึ้นได้ยังไง เราเรียนรู้อะไรจากเกมนี้บ้าง คืออย่าไปเสียน้ำตากับมันเยอะ ให้เป็นประสบการณ์ไป เอาความเสียใจไปจดหมากแล้วกลับไปดูเกมดีกว่า ถ้าชนะเราก็ต้องขอบคุณเขาเพราะเขาเหมือนกับได้สอนอะไรเราบางอย่าง ก็พยายามเปลี่ยนมุมมองเรื่องแพ้ชนะให้มันเป็นเรื่องเล็กๆ ให้เขาผ่านไปได้ค่ะ

.

Q : ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเล่นหมากล้อม เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวลูกบ้าง หรือตัวเราเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

แม่มน : เขาอยู่ตรงนี้แล้วเขาก็็จะเจอความพ่ายแพ้ ผิดหวัง เสียใจ คือมันทำให้เขายอมรับในตัวเองได้ว่าชีวิตคนเรามันไม่ได้สมหวังตลอดเวลา ชีวิตไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา จากการที่เขามาเจอเหตุการณ์ที่จะชนะอยู่แล้ว แต่ก็พลิกกลับมาแพ้ มันมีความไม่แน่นอน ซึ่งหมากล้อมทำให้เขายอมรับสภาพตรงนี้ได้ อย่างมี่จังเขาเป็นเด็กที่เรียนค่อนข้างดี และทำได้ดีมาตลอด คุณพ่อเขาก็จะเป็นห่วง ว่าอยู่ดีๆ การเรียนที่ดีมาตลอด ถ้าหากมีวิชาไหนที่ตกหรือได้คะแนนไม่ดี แล้วเด็กที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันตรงนี้จะรับได้มั้ย คุณพ่อเขาเคยเห็นเด็กที่รับไม่ได้ กลัวที่บ้านว่า ฯลฯ แล้วเรื่องนี้ลูกเราจะรับได้มั้ย ก็เคยเป็นห่วงเหมือนกัน จนกระทั่งเขามาเล่นหมากล้อม เขามีภูมิคุ้มกันจากสนามแข่งแล้ว อย่างล่าสุดมี่จังเขาจะได้เกียรติบัติเรียนดีทุกปี จนกระทั่ง ป.4 เขาควรจะได้เกียรติบัติเรียนดีปีที่ 4 เขาพลาดไป 1 วิชา 0.25% ซึ่งมันน้อยมาก นิดเดียวจริงๆ แล้วพอเขารู้ก็กลัวเขาจะเสียใจ จะรับได้มั้ย เพราะมันพลาดไปแบบไม่น่าพลาด พอเขามีภูมิตรงนี้เขาก็ยิ้มๆ แล้วก็บอกว่า “เหมือนแพ้ครึ่งแต้มแหละเนาะ” แล้วก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวปีหน้าเอาใหม่ มันเหมือนทำให้มุมมองของเขาเริ่มรับในจุดที่ไม่สมหวังได้ ผิดหวังได้ ต่อสู้กับมันได้ และทำใจกับมันได้ แนวคิดเขาเปลี่ยนไป และโตขึ้น เหมือนหมากล้อมสอนให้เขาโตขึ้น
แม่เล็ก : นอกเหนือจากที่แม่มนพูด คือนอกจากที่ทำให้เขารู้ว่าชีวิตมันไม่ได้สมหวังทุกอย่าง ผลมันออกมาอย่างนี้แล้วเราจะผ่านมันไปยังไง อีกอย่างที่เห็นได้ชัดๆ จากเมิร์ธเลยก็คือตอนมาไทยแลนด์โอเพ่นครั้งแรก ได้เจอกับผู้ใหญ่รุ่นๆ เดียวกับคุณพ่อ คือแค่นั่งลงไปนี่น้ำตาก็จะไหลแล้ว (หัวเราะ) บอกคุณแม่ว่าไม่เล่นได้มั้ย คือแค่เจอกับผู้ใหญ่เขาก็ไม่กล้าเล่นแล้ว แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องนั่งเล่นจนจบแล้วก็ผ่านมันไปได้ จนมาตอนนี้ทุกคนก็บอกว่าเมิร์ธนิ่งมากๆ คุณแม่อยากจะบอกว่าเขาก็เริ่มต้นเหมือนกับเด็กๆ ทุกคน มาถึงตอนนี้ก็แกล้งถามเขาว่าตอนที่เล่นกับพี่โตๆ เก่งๆ รู้สึกยังไง เขาก็บอกเฉยๆ คือเขามองที่หมาก ไม่ได้โฟกัสที่คน ความเก่งของแต่ละคนคือหมาก ไม่เกี่ยวกับอายุแล้ว มิตรภาพสามารถเกิดขึ้นได้ คิดว่าเขามั่นใจในตัวเองขึ้น กล้าหาญขึ้น ช่วยในชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ
แม่พร : ก็คล้ายๆ กันนะคะ เขาแกร่งขึ้น แล้วก็อึดขึ้น ของพี่ิริวเนี่ยก็จะเห็นว่าเขาเล่นช้าลง เมื่อก่อนนี่เร็วมาก 15 นาทีเสร็จ แล้วก็จะผิดพลาดเยอะ ก็มีการพัฒนาเรื่องความละเอียดรอบคอบขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีนะ ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ตั้งแต่เล็กๆ คือเป็นคนชอบเอาชนะมาก เขาก็ยอมรับได้มากขึ้นแต่ยังมีอารมณ์ขึ้นมา แต่เขาก็ใจ เพราะเขาผ่านมาเยอะ มีโมโหมั้ยก็มีทุกครั้งเพราะเขาก็ยังเป็นเด็ก แต่เขาก็สามารถดีลกับความผิดหวังของเขาได้ ยอมรับได้ ก็เป็นจุดที่เห็นว่าพัฒนาขึ้น

.

Q : เป็นคุณแม่นักหมากล้อม เหนื่อยมั้ยครับ

แม่เล็ก : เหนื่อยค่ะ เพราะว่าต้องไปทั่วไทยเลยเนาะ กระเตงลูกไปแข่ง
แม่มน : มันไม่ได้เหนื่อยแค่เดินทางอย่างเดียว เวลาลูกหยุดเรียนไปแข่งแล้วต้องมาตามงาน
แม่พร : ของคุณแม่นี่เหนื่อยเลย เพราะว่าทั้ง 2 คน พี่ริว ยูริ ลงคู่ผสมอีก บางทีก็เหนื่อยเหมือนกัน ก็มีทะเลาะกันบ้าง บางทีเราก็ต้องคอยสงบศึกให้ด้วย ให้กำลังใจกันบ้าง
แม่มน : มันเหนื่อยแหละ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่เราเต็มใจทำให้ลูก

.

Q : อยากฝากอะไรถึงคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่กำลังจะส่งลูกเข้ามาเล่นหมากล้อม มีอะไรแนะนำมั้ยครับ

แม่พร : ถ้าคนที่สนใจก็อยากให้มาเลยค่ะ มาลองเล่นดู แล้วก็ดูลูกเรา ถามเขาว่าเขาชอบมั้ย ถ้าเขาชอบก็ควรส่งเสริม ถ้าเด็กยังเล็กก็อาจจะคุมวินัยของเขาบ้างว่าให้ทำโจทย์ ให้ซ้อม แต่อย่าไปกดดันจนเกินไป เวลาไปแข่งอย่าไปติดขอบสนามจนเกินไป และไม่ต้องสนใจกับผลแพ้ชนะของเขามากนัก เราแค่อยู่เพื่อให้กำลังใจจะดีกว่า ถ้าเกิดเขาแพ้มาก็ให้เขาสำรวจตัวเองว่าพลาดตรงไหน จะปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง ก็เอาไปปรึกษาครูดูนะ คิดว่าคอยสนับสนุนและให้กำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
แม่เล็ก : ถ้าหากเลือกกีฬาสักชนิดนึงหมากล้อมก็เป็นกีฬาที่น่าสนใจ ถ้าหากได้เริ่มตั้งแต่เด็กๆ ก็จะดีมากๆ เพราะว่าเด็กเขาจะได้รู้จักวิธีการวางแผน จัดลำดับความสำคัญ เขาจะค่อนข้างโตขึ้นถ้าเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพราะหมากล้อมเล่นกระดานนึงก็ 1-2 ชั่วโมง โอ้โห เด็ก ป.1 ป.2 ทำได้ค่อนข้างยากมาก ถ้าหากเริ่มตั้งเด็กๆ เขาจะมีความอดทน พยายาม แล้วก็ยอมรับผลและสิ่งแวดล้อมของหมากล้อมดีมากๆ ผู้ปกครองมาด้วยความรักลูกจริงๆ มาแข่งงานไหนก็เจอกัน ช่วงงานแข่งเยอะๆ เราเจอผู้ปกครองหมากล้อมเยอะกว่าญาติตัวเองอีกค่ะ (หัวเราะ) มันก็เป็นมิตรภาพดีๆ ที่เจอจากวงการหมากล้อม
แล้วก็อย่างที่แม่พรบอกคืออย่าไปกดดันเรื่องผล ก็ปล่อยเขาไป อย่าไปคิดว่าเขาจะไปแข่งกับใคร สถานการณ์บ้านเรากับบ้านคนอื่นก็ไม่เหมือนกัน บางทีคนนี้เราชนะมาตลอด แต่เจอกันครั้งนี้เราอาจจะแพ้ก็ได้ เพราะก็อาจจะเก่งขึ้นได้เหมือนกัน บางทีสภาพจิตใจเขาพร้อมกว่า หรือลูกเราอาจจะพลาดก็ได้ อย่าไปคิดถึงผลมากนัก ให้มันผ่านไป ดูแค่ว่าเขาดีขึ้นกว่าเมื่อวานมั้ย ดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วมั้ย แค่นี้ก็ถือว่าโอเคแล้วค่ะ อยากให้เล่นหมากล้อมด้วยความสุขก็พอแล้ว
แม่มน : เห็นด้วยถ้าใครที่อยากจะเริ่มเล่นหมากล้อม อย่างที่บอกว่าส่วนตัวก็สนับสนุนเช่นกัน สังคมนี้เป็นสังคมที่น่ารัก ทั้งรุ่นพี่ ครูหมากล้อม เวลาที่เราเหนื่อย เราท้อ เราก็สามารถที่จะคุยปรึกษากับพี่ๆ หรือครูๆ ทุกคนก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษากับลูกเรา หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองด้วยกันเอง เพราะเราก็หัวอกเดียวกัน ก็พูดคุยกัน ให้กำลังใจกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แล้วก็อยากจะบอกว่าเด็กทุกคนที่มาอยู่ตรงนี้คือสุดยอดมาก ลูกเราก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย แล้วเด็กๆ เวลาเขาแพ้ชนะกันก็อยู่แค่บนกระดาน หลังจากนั้นเขาก็วิ่งเล่นกัน เป็นเพื่อนกัน อยากจะบอกผู้ปกครองว่าอย่าไปใส่ใจผลแพ้ชนะของเขามาก ให้เขาจบที่ตรงนั้น แล้วก็เก็บความผิดพลาดมาแก้ไข พัฒนาตัวเองต่อไป เพราะโดยธรรมชาติของเด็กพอจบกระดานแล้วมันก็เหลือแต่ความเป็นเพื่อน เพราะอย่างที่เห็นลูกเรากับเด็กคนอื่นๆ ก็แทบจะโตมาด้วยกัน เลยบอกว่ามันเป็นสังคมที่ดีจริงๆ ถ้าเทียบกับกีฬาอื่นๆ หมากล้อมนี่มหัศจรรย์ที่สุดแล้วค่ะ เล่นจบแล้วก็ช่วยกันเรียงเกม แนะนำกัน ว่าเดินพลาดตรงไหน คือมันได้คุยกัน มีบทสนทนาต่อ เป็นการแข่งที่แข่งเสร็จแล้วมีมิตรภาพที่จับต้องได้ ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของหมากล้อมและวงการหมากล้อม และเป็นอะไรที่น่าสนับสนุนให้เด็กเข้ามาอยู่ในวงการนี้
แม่เล็ก : อีกอย่างคือครูหมากล้อมก็ดี มักจะสอดแทรกคุณธรรมให้ลูกเราด้วย อีกอย่างคือมันเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันด้วยนะคะ อย่างพี่คนนี้เก่งมาก พัฒนาไปเร็วมาก น้องๆ เขามองนะคะ เขามองพี่ๆ เพื่อนๆ คือมันเป็นความคิดในแง่บวกและเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาไม่หยุดอยู่กับที่ ไม่หยุดพัฒนาเพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้เป็นแบบนั้นบ้าง

.

Q : อยากฝากถึงคุณแม่ท่านอื่นๆ ที่กำลังลังเลอยู่ว่าจะส่งลูกมาเรียนหมากล้อมดีหรือเปล่าครับ”

แม่เล็ก : ไม่ต้องลังเลค่ะ ให้ลูกมาเริ่มเลย หมากล้อมไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดี แต่ที่สำคัญคือลูกต้องชอบ เล่นนานๆ อยู่กับมันได้ อันนี้เขาจะไปได้เลย
แม่พร : คิดว่าคุณแม่ทุกท่านอยากจะให้ลูกมีความสุข ถ้าหากลูกชอบก็ควรสนับสนุนเขาต่อ จะไม่ใช่หมากล้อมก็ได้ ถ้าลองหมากล้อมแล้วไม่ชอบ ก็ไม่ต้องยัดเยียดให้เขา ลองไปหาอย่างอื่นต่อ
แม่มน : เห็นด้วยค่ะ ถ้าหากลูกมาลองแล้วไม่ชอบ คือไม่ต้องอยู่หรอกค่ะ คือต่อให้พ่อแม่พยายามจะให้เล่นยังไงมันก็ได้แต่ควาทุกข์ของลูก เด็กที่จะอยู่ในวงการนี้ได้ต้องชอบด้วยตัวเองจริงๆ แล้วพ่อแม่คอยสนับสนุนซึ่งถ้าเขาไม่พร้อมที่จะอยู่ก็ไม่ต้องให้เขาอยู่ เพราะมันไม่ได้อยู่เพราะอยากพัฒนาตัวเองแล้ว มันอยู่ด้วยความทุกข์ อึดอัด ไม่โอเค ก็ปล่อยเขาไปหาสิ่งที่เขาชอบแล้วไปสนับสนุนเขาตรงนั้นดีกว่า

ที่มา Thai Go Alumni – TGA