ความรู้เบื้องต้นในการเล่นหมากล้อม
ในการเล่นหมากล้อม พื้นฐานที่ควรทราบ มีเพียงทราบข้อ เท่านั้น คือ
1. เล่นเพื่อล้อมพื้นที่
2. การจับหมากกิน
3. การต่อรอง (โคะ)
1. เล่นเพื่อล้อมพื้นที่
เป้าหมายในการเล่นหมากล้อมคือ การสร้างพื้นที่ให้ได้มากกว่าฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายที่สร้างพื้นที่ได้มากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะ นั่นคือฝ่ายใดที่สร้างพื้นที่ได้มากกว่าเพียง 1 คะแนน ก็เป็นฝ่ายชนะ การสร้างพื้นที่คือ การล้อมจุดตัดว่างๆ โดยเม็ดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
พื้นที่ยังไม่สมบูรณ์
จากรูป การล้อมพื้นที่ของหมากขาวยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีหมากดำ 1 เม็ดแทรกอยู่ หมากขาวต้องปิดพื้นที่ของหมากขาว ก่อนจึงจะถือว่าเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์
***แต้มต่อสำหรับขาว (โคมิ) ***
เมื่อจบเกมและนับพื้นที่ ขาวจะได้บวกแต้มต่อเพิ่มขึ้น ดังนี้
กระดาน 9*9 บวกแต้มต่อ 1.5 แต้ม
กระดาน 13*13 บวกแต้มต่อ 3.5 แต้ม
กระดาน 19*19 บวกแต้มต่อ 6.5 แต้ม
2. การจับหมากกิน
หมากที่ถูกจับกิน คือ หมากที่ถูกฝ่ายตรงข้ามปิดล้อมลมหายใจจนหมด ลมหายใจ คือ จุดตัดที่อยู่ติดกับตัวหมาก โดยมีเส้นที่พุ่งออกมาจากตัวหมากมาเป็นตัวเชื่อม
รูปที่ 1 หมาก 1 เม็ดปกติ จะมีเส้นพุ่งออกมาจากตัวหมาก 4 เส้น ต่อเชื่อมกับจุดตัดที่อยู่ติดกับตัวหมากรวม 4 จุด เกิดเป็นลมหายใจ 4 ลม(ไม่นับจุดตัดที่อยู่ติดกับตัวหมากในลักษณะทแยง เพราะไม่มีเส้นเชื่อมถึงกัน)
รูปที่ 2 หมาก 1 เม็ดที่อยู่บนเส้นหนึ่งของขอบกระดานจะมีเส้นพุ่งออกจากตัวหมาก 3 เส้น ต่อเชื่อมกับจุดตัดที่อยู่ติดกับตัวหมาก 3 จุด เกิดเป็นลมหายใจ 3 ลม
รูปที่ 3 หมาก 1 เม็ดที่อยู่บริเวณมุมกระดานจะมีเส้นพุ่งออกจากตัวหมาก 2 เส้น ต่อเชื่อมกับจุดตัดที่อยู่ติดกับตัวหมากนั้น2 จุด เกิดเป็นลมหายใจ 2 ลม
หมากดำในรูป.4 ถูกหมากขาวปิดล้อมลมหายใจจนหมดทั้ง 4 ลมหายใจ หมากดำจึงถูกจับกิน ผู้เล่นหมากขาวจะหยิบหมากดำออกจากกระดานเพื่อเป็นเชลยเกิดเป็นรูปที่ 5
หน่วย
เม็ดหมากที่ต่อเชื่อมกัน ตามเส้นที่พุ่งออกมาจากตัวหมาก จะรวมเป็นหมากหน่วยเดียวกัน ถ้าฝ่ายตรงข้ามจะจับกิน ก็จะต้องปิดลมหายใจทั้งหน่วย จำนวนเม็ดที่น้อยที่สุดใน 1 หน่วย คือ 1 เม็ด
จากรูปที่ 6 หมากดำต่อเชื่อมกันตามเส้นที่พุ่งออกจากตัวหมาก เป็นหมากหน่วยเดียวกัน ถ้าหมากขาวจะจับหมากดำกิน ก็ต้องปิดล้อมลมหายใจของทั้งหน่วย ดังรูปที่ 7
อะตาริ
เมื่อเราปิดลมหายใจของฝ่ายตรงข้ามจนเหลือเพียง 1 ลมหายใจแล้ว เราจะบอกฝ่ายตรงข้ามว่า “อะตาริ” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ว่า “เรียกกิน” เป็นการเตือนฝ่ายตรงข้ามให้รู้ตัวก่อน เพราะทัศนคติที่ดีในการเล่นหมากล้อมนี้ ผลประโยชน์ที่เราได้มา ไม่ควรเกิดจากโชคช่วย ทีเผลอ หรือว่าความบังเอิญ แต่ควรจะเกิดจากการวางแผนที่ดี และการวางนโยบายที่ดีเท่านั้น
จากรูปเมื่อหมากขาวปิดลมหายใจของหมากดำจนเหลือ 1 ลมหายใจแล้ว หมากขาวจะบอกหมากดำว่า “อะตาริ”
3. การต่อรอง
การต่อรองในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าการเล่น “โคะ” ในชิวิตประจำวัน ของเรามีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องยอมสูญเสียเพื่อแลกกับบางอย่างกลับคืนมา การพิจารณาสถานการณ์ให้ถ่องแท้ เพื่อกำหนดถึงผลประโยชน์อันควรได้รับ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งการต่อรองบนกระดานหมากล้อมจะช่วยสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับเราได้ การต่อรองนั้นเป็นผลจากข้อบังคับในการเล่นหมากล้อมที่ว่า “ห้ามกินกลับไปกลับมา ในลักษณะที่เหมือนเดิมทันทีทันใด”
จากรูปที่ 1 หมากขาวสามารถวางที่จุด A และจับกินหมากดำได้ เกิดเป็นรูปที่ 2 หมากดำก็สามารถวางที่จุด Bและจับหมากขาวกินได้ เกิดเป็นรูปที่ 3
ต่างฝ่ายต่างก็สามารถจับกินกันไปกันมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงภาพเกิดขึ้นและคงไม่สามรถเล่นให้จบเกมได้อย่างแน่นอนในการเล่นหมากล้อมจึงต้องมีข้อบังคับว่า
“ห้ามกินกลับไปกลับมาในลักษณะที่เหมือนเดิมทันทีทันใด” กล่าวคือ จากรูปที่ 1 เมื่อหมากขาวจับกินหมากดำแล้ว หมากดำจับกินหมากขาวคืนไม่ได้ในทันที ต้องผ่านไปก่อน 1 ตา จุดนี้เองที่จะทำให้เกิดการต่อรองขึ้น เพราะถ้าหมากดำอยากกินหมากขาวกลับคืนหมากดำต้องไปเล่นในที่อื่นๆ ที่เล่นแล้วหมากขาวควรจะต้องตามไปรับมือ ถ้าไม่ตามไปรับมืออาจจะเกิดความเสียหาย เพื่อทำให้ 1 ตาผ่านไป หมากดำก็จะสามารถกลับมากินหมากขาวคืนได้ เช่นเดียวกันถ้าหมากขาวอยากกินหมากดำก็ต้องใช้วิธีเดียวกัน คือ ต้องไปเล่นในที่ๆ หมากดำต้องตามไปรับมือ ถ้าไม่ตามไปรับมือก็จะอาจเกิดความเสียหายได้ …. ครับ !!!
หมากล้อมถึงแม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมายาวนาน ถึง 3000 ปี แต่มีกฎ ใหญ่ ๆ อยู่แค่ 3 ข้อแค่นี้แหล่ะครับ แต่หากถ้าคุณได้สัมผัสหมากล้อมลงไปอีกนิด….คุณจะรู้ว่า…ชั่วชีวิตนี้คุณอาจจะเรียนรู้มันยังไม่หมด